ไขมันหน้าท้องส่งผลเสียต่อสุขภาพอย่างไร

 แทบจะปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ในยุคสมัยที่เทรนด์เรื่องสุขภาพกำลังมาแรงใคร ๆ ก็อยากที่จะมีรูปร่างที่ดี มีหน้าท้องที่แบนราบกันแทบทั้งนั้น
แต่ปัญหาใหญ่ที่ถือเป็นอุปสรรคขัดขวางเส้นทางหุ่นดี ฟิตแอนด์เฟิร์มนั้น ก็คือไขมันส่วนเกินที่สะสมบริเวณหน้าท้อง
#ไขมันหน้าท้อง คือไขมันส่วนเกินที่ทำให้หน้าท้องดูหย่อนคล้อย หรือพุงป่อง ๆ ย้อย ๆ ที่ทำให้เรารู้สึกไม่สวยงาม ไม่มั่นใจทุกครั้งที่ต้องใส่เสื้อรัดรูป หรือต้องการโชว์หุ่น
และพุงยังเป็นส่วนที่ลดยากมากกว่าส่วนอื่น ๆ เพราะ ไขมันตรงส่วนนี้มีถึง 2 ชั้นด้วยกัน และยิ่งมีพุงมากเท่าไหร่ โอกาสเกิดโรคต่าง ๆ ก็ยิ่งมีมากขึ้นเท่านั้น
ถ้าอยากรู้ว่าไขมันส่วนนี้หน้าตาเป็นอย่างไร ให้ลองอัลตร้าซาวน์ดู ก็จะพบว่าอวัยวะภายในของเรานั้น ถูกหุ้มห่อไปด้วยก้อนสีออกเหลือง ๆ ซึ่งนั่นก็คือ ไขมันในช่องท้อง นี่เอง
ไขมันหน้าท้อง มีอยู่ 2 ประเภท ดังนี้
1. ไขมันใต้ผิวหนัง (Subcutaneous Fat) – ไขมันที่อยู่ติดผิวหนัง และกล้ามเนื้อ เป็นชั้นที่เราสามารถจับ หรือบีบติดมือเราขึ้นมาได้ ไขมันชนิดนี้ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของเรานัก แต่จะเป็นส่วนที่ปกปิด six pack ของเราไว้ ไม่ยอมให้ใครเห็น
.
2. ไขมันในช่องท้อง (Visceral Fat) – อยู่ระหว่างกล้ามเนื้อท้องกับอวัยวะภายในช่องท้องของเรา หากมีมากก็เหมือนเราเอาไขมันไปหุ้มอวัยวะภายในร่างกายของเรา
.
เป็นไขมันที่อันตรายกว่าไขมันใต้ผิวหนัง ซึ่งเป็นสาเหตุใหญ่ของโรคอันตรายต่าง ๆ อาทิ โรคหัวใจ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง เส้นโลหิตในสมองตีบ หรือแตก เป็นต้น
.
หลายคนอาจเข้าใจว่าไขมันหน้าท้อง, ไขมันรอบเอว หรือพุง (Abdominal fat, Belly fat) เกิดจากร่างกายรับสารอาหารประเภทไขมันและคาร์โบไฮเดรต เข้าสู่ร่างกายจำนวนมาก และร่างกายไม่สามารถเผาผลาญได้หมดในแต่ละวัน
จึงทำให้เกิดไขมันส่วนเกินบริเวณหน้าท้องขึ้นมา ถ้าปล่อยไว้นาน ไขมันตรงนี้ก็จะยิ่งแข็งตัวมากขึ้นจะดันให้หน้าท้องของเราป่องออกมาที่เรียกกันว่า “พุง”
แต่นั่นก็ไม่ถูกซะทั้งหมด เพราะจริง ๆ แล้วไขมันหน้าท้องเกิดได้จากหลากหลายสาเหตุเช่นกัน เช่น
– กรรมพันธุ์ เพราะมียีนเก็บสะสมไขมันได้ดีที่ส่งต่อมาจากคนในครอบครัว ทำให้เป็นคนที่อ้วนได้ง่าย และไขมันก็มักจะสะสมอยู่ที่หน้าท้อง สะโพก ต้นขา
ดังนั้นคนที่ได้รับกรรมพันธุ์นี้มายิ่งต้องระวังเรื่องอาหารให้ดี พร้อมทั้งต้องหมั่นออกกำลังกายหรือเคลื่อนไหวร่างกายบ่อย ๆ เพื่อช่วยเผาผลาญไขมันส่วนเกิน
– ฮอร์โมน โดยเฉพาะผู้หญิงในวัยทองนั้นจะมีระดับฮอร์โมนที่แกว่ง เนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงและความเสื่อมของร่างกาย โดยจะมีระดับฮอร์โมนเอสโทรเจนที่ลดลง
ส่งผลให้ระบบเผาผลาญอ่อนแอลงด้วย จึงทำให้อ้วนขึ้นได้ง่าย สังเกตได้จากไขมันที่เริ่มพอกพูนตรงสะโพก ก้น และหน้าท้อง
ดังนั้นควรดูแลรูปร่างด้วยการออกกำลังกายด้วยการเล่นเวทเทรนนิ่ง หรือออกกำลังกายเพื่อสร้างกล้ามเนื้อเพื่อลดไขมัน ก็จะช่วยให้มีรูปร่างที่ดีขึ้นได้
– พักผ่อนไม่เพียงพอ เพราะการที่ร่างกายไม่ได้พักผ่อนอย่างเพียงพอ จะทำให้ระบบต่าง ๆ ในร่างกายแปรปรวน ทั้งระดับฮอร์โมน ระดับน้ำตาลในเลือด
ซึ่งอาจส่งผลให้เราอยากกินอาหารรสหวาน และอาหารขยะมากขึ้น จนในที่สุดก็มีไขมันหน้าท้องสะสมจนกลายเป็นพุง
– ความเครียด เพราะเมื่อเกิดความเครียด ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนแห่งความเครียดซึ่งก็คือฮอร์โมนคอร์ติซอลออกมา ทำให้อยากอาหารหวานเพื่อเพิ่มความสดชื่นให้ร่างกาย
อีกทั้งฮอร์โมนคอร์ติซอลยังกระตุ้นให้ไขมันในร่างกายกระจายไปยังเซลล์ต่าง ๆ ซึ่งอาจทำให้เกิดไขมันหน้าท้องและไขมันในช่องท้องขึ้นมาได้
– เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะในแต่ละแก้วที่ดื่มเข้าไปแคลอรี่สูงปรี๊ด ยิ่งดื่มก็จะยิ่งส่งผลให้ไขมันเข้าไปสะสมตรงท้องมากเป็นพิเศษ
ดังการศึกษาที่พบว่า อาสาสมัครที่ดื่มเก่งจะมีรอบเอวที่หนา และมีพุงมากกว่าอาสาสมัครที่ไม่ค่อยดื่มหรือไม่ดื่มเลย
– ขนมขบเคี้ยวและน้ำหวาน กาแฟเย็น ชาเย็น ที่ดื่มกันอยู่ทุกวัน เป็นแหล่งอุดมไปด้วยน้ำตาลปริมาณสูงปรี๊ด รวมทั้งขนมขบเคี้ยวอื่น ๆ ที่ไม่ได้มีแค่น้ำตาล
แต่ยังเปี่ยมไปด้วยแป้งและโซเดียม ส่วนประกอบที่ทำให้มีไขมันสะสมอยู่ตรงหน้าท้องและส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย อีกทั้งโซเดียมยังทำให้เกิดภาวะบวมน้ำได้อีกด้วย
– ไม่ออกกำลังกาย เหตุผลง่าย ๆ ที่ทำให้หลายคนอ้วนลงพุงหรือมีหน้าท้องก็เพราะไม่ชอบออกกำลังกายนี่แหละ ดังนั้นขยับเคลื่อนไหวให้มากเข้าไว้ดีกว่า
ถ้าไม่ชอบออกกำลังกายก็เดินเล่นหรือทำงานบ้านไปก็ได้ ได้ประโยชน์ควบคู่ทั้งบ้านสะอาด และหน้าท้องแบนเรียบปราศจากไขมัน
หากปล่อยให้ มีพุงใหญ่ หรือมีไขมันหน้าท้องเยอะ จะทำให้เกิดภาวะเสี่ยงต่อโรคร้ายแรงมากมาย ดังนี้
1. ปอดทำงานได้ไม่เต็มที่
มีผลการวิจัยพบว่า ผู้ที่อ้วนลงพุงนั้นจะทำให้การทำงานของปอดลดลง เพราะอัตราการหายใจลดลง ซึ่งเมื่อเกิดขึ้นเป็นเวลานาน ทำให้ทางเดินหายใจหดแคบลง และก่อให้เกิดโรคปอดเรื้อรังอย่าง หอบหืด ตามมาได้
2. การทำงานของหลอดเลือดผิดปกติ
จากผลการศึกษาปี 2012 พบความสัมพันธ์ระหว่างผู้ที่อ้วนลงพุงกับภาวะการเกิดโรคหลอดเลือดตีบตัน และภาวะหลอดเลือดแข็งตัว และการที่เส้นเลือดแดงแข็งตัว และตีบนั้นก็จะก่อให้เกิด โรคหัวใจตามมาได้
3. เสี่ยงต่อเบาหวาน
ไขมันหน้าท้อง เป็นไขมันที่พบในคนที่มีภาวะอ้วนลงพุง ไขมันนี้มีการผลิตฮอร์โมนซึ่งส่งผลกระทบต่อการทำงานของระบบเผาผลาญในร่างกาย
และยังทำให้ตัวรับสัญญาณอินซูลิน (ตัวควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด) ทำงานผิดปกติ ทำให้เสี่ยงต่อการป่วยเป็น โรคเบาหวาน เพิ่มขึ้นนั่นเอง
4. ระดับคอเลสเตอรอลสูง+โรคหัวใจ
ไขมันหน้าท้อง สามารถเปลี่ยนเป็นกรดไขมันอิสระ ซึ่งส่งผลให้ร่างกายผลิตคอเลสเตอรอล LDL (ไขมันเลว) นอกจากนั้นกรดไขมันอิสระยังทำให้ระดับของคอเลสเตอรอล HDL (ไขมันดี) ลดลง ซึ่งไขมันเหล่านี้ไม่เพียงส่งผลต่อการทำงานของหลอดเลือด แต่ยังทำให้เกิดโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง และ ภาวะหัวใจวาย ตามมาได้
5. เสี่ยงโรคสมองเสื่อม และอัลไซเมอร์
ผลการศึกษาในปี 2010 พบว่ายิ่งรอบเอวคุณหนามากเท่าไหร่ รวมทั้งยิ่งอ้วนลงพุงมากเท่าไหร่ก็ยิ่งเสี่ยงต่อภาวะสมองเสื่อม และ โรคอัลไซเมอร์ มากขึ้นเท่านั้น
เพราะว่าไขมันจะไปอุดตันในเส้นเลือดทำให้เลือดไหลเวียนขึ้นไปเลี้ยงเซลล์สมองไม่สะดวก สมองจึงขาดออกซิเจน และทำให้เซลล์ตายนั่นเอง
เอาเข้าจริง ๆ ถึงแม้ว่าไขมันที่สะสมบริเวณหน้าท้องจะมีที่มาจากหลากหลายสาเหตุ และก็เชื่อว่าเราต่างก็รู้กันดีถึงสาเหตุที่ทำให้มีไขมันหน้าท้องและอ้วนขึ้น
แต่วิธีแก้ไขกลับมีวิธีที่แทบจะเหมือนกัน และก็ยังอยากย้ำคำเดิม ๆ อยู่ว่าเราควรจะดูแลสุขภาพให้ดีที่สุด นั่นคือ ปรับเปลี่ยนวิธีการรับประทานอาหาร ควบคุมอาหาร
หมั่นหาเวลาออกกำลังกาย หรือขยับร่างกายให้ได้มากที่สุด ทั้งพยายามไม่เครียด และสุดท้ายต้องพักผ่อนให้เพียงพอ
ซึ่งวิธีเหล่านี้ก็เพียงพอที่จะช่วยบรรเทาไขมันที่สะสมอยู่บริเวณหน้าท้องไปได้

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *